จากบทเรียนที่ผ่านมา เหตุการณ์เพลิงไหม้แต่ละครั้งได้คร่าชีวิตและสูญเสียทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก และเราก็จะลืมเหตุการณ์เหล่านั้นไป และไม่ได้ระมัดระวังเท่าที่ควร ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ได้เกิดกับญาติหรือพี่น้องของตนเอง  อย่างไรก็ตามยังมีหลายฝ่ายที่ติดตามและพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก  แต่เนื่องจากการแข่งขันในปัจจุบันเกิดขึ้นและพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการอาศัยช่องว่างของกฎหมาย หลีกเลี่ยงข้อกำหนดของกฎหมายโดยมิได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร และต่อส่วนรวมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเจ้าของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง จะหวังรถดับเพลิงจากทางราชการ ก็จะไม่ทันการณ์

     บทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายต่อระบบโดยรวม และตระหนักถึงความสำคัญของระบบ  “ FIRE LIFE SAFETY” โดยผู้เขียนขออธิบายสั้นๆ ส่วนในรายละเอียดของแต่ละระบบ จะนำมาเขียนทั้งข้อกฎหมายและมาตรฐานการติดตั้งต่อไป

 “FIRE LIFE SAFETY SYSTEMS” หมายถึงระบบความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ที่เกิดจากอัคคีภัย ซึ่งแยกออกเป็นระบบได้ดังนี้

1. Management Of Change (MOC)

หมายถึง การจัดการความปลอดภัยภายในองค์กรหรือผู้ประกอบการ หลายครั้งที่ผู้เขียนไปตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร และถามหา แบบแปลนของอาคาร หรือ แบบแปลนของงานระบบที่อัพเดท(updated) จะได้รับคำตอบว่า ไม่มี หรือ มีแต่เป็นแบบดั้งเดิมตั้งแต่สร้างอาคาร นั่นหมายถึงว่า องค์กร หรือ ผู้ประกอบการนั้นไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้อาคารมากนัก และยังมีผลไปถึงความปลอดภัยของทรัพย์สินด้วย และยังผิดกฎหมายด้วย เพราะถ้าไม่มีแบบที่อัพเดท(updated) แล้ว ทั้งตำแหน่งทางหนีไฟก็ดี อุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆของอาคารก็ดี หรือ บริเวณเก็บสารอันตรายในอาคารที่เปลี่ยนแปลงไปก็ดี เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ทำให้ล่าช้าในการระงับเหตุ อาจเกิดเหตุเป็นเพลิงขนาดใหญ่ได้ และไม่สามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ดับเพลิง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้ามาช่วยได้

2.Life Safety system หรือระบบความปลอดภัยของผู้ใช้อาคาร ระบบนี้มีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งปกติแล้วจะต้องตรวจแบบตั้งแต่เริ่มออกแบบและแก้ไขก่อนทำการก่อสร้างให้ถูกต้อง หรือทำแบบให้ถูกต้องก่อนขออนุญาต เพราะเป็นส่วนของอาคารที่เน้นความปลอดภัยต่อผู้ใช้อาคารให้เป็นไปตามกฎหมายและตามมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น โรงงาน โรงแรม คอนโดมิเนียม (Condominium) ศูนย์การค้า โรงภาพยนต์ หรืออาคารสาธารณะต่างๆ โดยจะต้องเน้นหลักสำคัญๆ ดังนี้

2.1 พิจารณาส่วนประกอบของทางหนีไฟของอาคารสามารถรองรับจำนวนคนได้ (Egress capacity)

2.2 พิจารณาการแบ่งส่วนอาคาร (Fire compartments) รวมทั้งช่องเปิดแนวดิ่ง (Vertical openings)

2.3 พิจารณาระยะทางสัญจรหนีไฟ  ประตูหนีไฟในอาคาร นอกอาคาร และบันไดหนีไฟ (Mean of egress)

2.4  พิจารณาว่ามีแสงสว่างฉุกเฉินพอหรือไม่ (Emergency light)

2.5 พิจารณาว่ามีป้ายชี้บอกทางหนีไฟเพียงพอและชัดเจน (Exit light)

2.6 พิจารณาว่าอาคารมีวิธีการจัดการหรือระบายควันไฟในอาคารอย่างเหมาะสม (Smoke control)

2.7 พิจารณาแผนและขั้นตอนการอพยพคนออกจากอาคาร (Evacuation plan and procedure)

3. Fire alarm system หรือ ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งเป็นระบบที่แจ้งเตือนให้กับผู้ใช้อาคารได้รู้ตัว และ อพยพออกจากอาคาร ก่อนที่จะเกิดเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ ระบบนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่สำคัญคือ

                3.1 Initiating devices หรืออุปกรณ์เริ่มสัญญาณ ได้แก่ อุปกรณ์ตรวจจับควันไฟหรือความร้อน และอุปกรณ์ตรวจจับน้ำดับเพลิงไหล ซึ่งเป็นการตรวจจับตลอดเวลาแบบอัตโนมัติ และอุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือ(คนดึงหรือกดเพื่อให้เกิดสัญญาณเตือนภัย)

                3.2 Notification Devices หรือ อุปกรณ์เตือนเพลิงไหม้ ซึ่งจะทำงานหรือส่งสัญญาณเตือนให้ผู้ใช้อาคารรู้ตัวเมื่ออุปกรณ์ตรวจจับหรือแจ้งเหตุทำงานแล้ว ซึ่งสามารถออกแบบทั้งเป็นระบบแสง และระบบเสียงควบคู่กัน ซึ่งในปัจจุบันนี้อาคารส่วนใหญ่ จะต้องออกแบบให้มีเสียงพูดชนิดลำโพง (speaker) ยกเว้นอาคารขนาดเล็กที่มีคนไม่เกิน 300 คน อนุโลมให้ใช้ชนิดกระดิ่งได้

4. Automatic sprinkler systems หรือ ระบบดับเพลิงด้วยน้ำอัตโนมัติ ซึ่งในมาตรฐานสากลแบ่งออกได้ เป็น 4 ระบบตามสภาพของพื้นที่ที่ติดตั้ง มีดังนี้คือ

4.1 Wet pipe system หรือ ระบบท่อเปียก

4.2 Dry pipe system หรือ ระบบท่อแห้ง

4.3 Deluge system หรือ ระบบเปิด

4.4 Pre-action system หรือ ระบบท่อแห้งแบบชะลอน้ำเข้า  ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดของแต่ละระบบในครั้งต่อไป

5. Fire Suppression systems หรือ ระบบดับเพลิงที่ใช้สารเคมี หรือ ก๊าซ ทดแทนระบบน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากน้ำและลดเวลาการฟื้นฟูภายหลังการเกิดเหตุ เช่น ระบบ Wet chemical, FM-200, Novec, N2, หรือ CO2 เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะออกแบบสำหรับ ห้องอุปกรณ์สื่อสาร หรือห้องไฟฟ้า ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดโอกาสต่อไป

6. Portable Fire extinguishers หรือเครื่องดับเพลิงแบบมือถือ เป็นอุปกรณ์ดับเพลิงขั้นต้นสำหรับคนทั่วไป ซึ่งมีความจำเป็นและสำคัญมากต่อสถานประกอบการ และมีกฎหมายบังคับให้ติดตั้งในทุกสถานประกอบการ ซึ่งสามารถดับไฟในเบื้องต้นได้ก่อนที่จะกลายเป็นเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ ประเภทของเชื้อเพลิงและประเภทของการใช้งาน แบ่งออกเป็น 5 ประเภท คือ

6.1 ประเภท ก (Class A) หมายถึง เพลิงที่เกิดขึ้นจากวัสดุติดไฟ จากของแข็ง เช่น ไม้ กระดาษ เสื้อผ้า พลาสติก

6.2 ประเภท ข (Class B) หมายถึง เพลิงที่เกิดขึ้นจากวัสดุติดไฟ จากของเหลว เช่น น้ำมัน สี จารบี

6.3 ประเภท ค (Class C) หมายถึง เพลิงที่เกิดขึ้นจากวัสดุติดไฟ จากอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ไฟฟ้าลัดวงจร

6.4 ประเภท ง (Class D) หมายถึง เพลิงที่เกิดขึ้นจากโลหะที่ติดไฟ เช่น Magnesium sodium lithium หรือ potassium

6.5 ประเภท จ (Class K) หมายถึงเพลิงที่เกิดขึ้นจากไขมันพืช และ สัตว์ เช่น น้ำมันที่ใช้ทำอาหารในครัว

ดังนั้นทุกสถานประกอบการจะต้องมีพนักงานที่ได้รับการฝึกการใช้เครื่องดับเพลิงแบบมือถือได้อย่างถูกต้อง ซึ่งกฎหมายบังคับผู้ประกอบกิจการต้องจัดให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละสี่สิบของจำนวนลูกจ้างในแต่ละหน่วยงานของสถานประกอบกิจการรับการฝึกอบรมการดับเพลิงขั้นต้น โดยให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นผู้ดำเนินการฝึกอบรม แต่ผู้เขียนแนะนำว่า ควรอบรมให้ครบ 100% เพื่อจะได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อสถานประกอบการ

ก่อนที่จบบทความนี้ ผู้เขียนหวังว่าทุกคนคงเห็นความสำคัญและเข้าใจ ของระบบ Fire and life safety   ซึ่งนอกจากจะป้องกันชีวิตของผู้ใช้อาคารและทรัพย์สินของผู้ประกอบการแล้ว ยังสามารถสร้างโอกาส สร้างรายได้ทางธุรกิจ และที่สำคัญคือ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้อาคาร กับความน่าเชื่อถือในการลงทุน    

REFERENCE

  • NFPA 10 , Standard for Portable Fire Extinguishers Code, 2017 Edition : National Fire Protection Association
  • NFPA 12 , Standard on Carbon Dioxide Extinguishing Systems Code, 2018 Edition : National Fire Protection Association
  • NFPA 13 , Standard for the Installation of Sprinkler Systems Code, 2019 Edition : National Fire Protection Association
  • NFPA 14 , Standard for the Installation of Standpipe and Hose Systems Code, 2019 Edition : National Fire Protection Association
  • NFPA 17A , Standard for Wet Chemical Extinguishing Systems Code, 2017 Edition : National Fire Protection Association
  • NFPA 72 , National Fire Alarm and Signaling Code, 2019 Edition : National Fire Protection Association
  • NFPA 92 , Standard for Smoke Control Systems Code, 2018 Edition : National Fire Protection Association
  • NFPA 101 , Life Safety Code, 2018 Edition : National Fire Protection Association
  • NFPA 2001 , Standard on Clean Agent Fire Extinguishing Systems Code, 2018 Edition : National Fire Protection Association

Khun Boontham Jankaeo

Senior Engineer