ฉลากโภชนาการ (์Nutrition Information) ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทุกคนควรรู้ ในฐานะผู้บริโภคก่อนที่จะซื้อสินค้า อาหาร วัตถุดิบ สำเร็จรูปใดๆ เพื่อสุขภาพที่ดีจึงควรอ่านฉลากโภชนาการได้อย่างเข้าใจ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวยิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้ทราบถึงปริมาณสารอาหาร และหลีกเลี่ยงสารอาหารที่ไม่ดีหรือไม่จำเป็นต่อร่างกายได้
ฉลากโภชนาการ คืออะไร?
ฉลากโภชนาการ คือ ฉลากอาหารที่มีการแสดงข้อมูลโภชนาการ ซึ่งระบุชนิดและปริมาณสารอาหารของอาหารนั้นในกรอบสี่เหลี่ยมเรียกว่า “กรอบข้อมูลโภชนาการ” ซึ่งมีอยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบเต็มและแบบย่อ
- ฉลากโภชนาการแบบเต็ม
เป็นฉลากที่แสดงชนิด และปริมาณสารอาหารที่สำคัญที่ควรทราบ 15 รายการ สำหรับฉลากที่มีความสูงจำกัด สามารถแสดงฉลากโภชนาการเต็มรูปแบบในลักษณะแบบแนวนอนหรือแบบขวางตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้
- ฉลากโภชนาการแบบย่อ
ใช้ในกรณีที่สารอาหารตั้งแต่ 8 รายการ จากจำนวนที่กำหนดไว้ 15 รายการนั้น มีปริมาณน้อยมากจนถือว่าเป็นศูนย์ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องแสดงให้เต็มรูปแบบ
วิธีการอ่าน
- ดูปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภค ปริมาณการกินต่อครั้งที่แนะนำให้ผู้บริโภครับประทาน หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ดูว่าอาหารนั้นในการกินต่อครั้งควรกินจำนวนได้เท่าไร เช่น ขนมปัง 1 ห่อ มี 10 ชิ้น ควรกินได้ 2 ชิ้นต่อวัน เป็นต้น
- ดูจำนวนหน่วยบริโภคต่อภาชนะบรรจุ เป็นจำนวนที่บอกว่าถ้ากินครั้งละหนึ่งหน่วยบริโภคจะแบ่งกินได้กี่ครั้ง เช่น ขนมปัง 1 ห่อ มี 10 ชิ้น ควรกินได้ 2 ชิ้นต่อวัน ก็จะแบ่งกินได้ 5 ครั้ง เป็นต้น
- ดูคุณค่าทางโภชนาการต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ว่าจะได้พลังงานเท่าไร สารอาหารอะไรบ้าง ในปริมาณเท่าใด
- ดูร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน เช่น ไขมันทั้งหมด ไขมันอิ่มตัว ใยอาหาร โซเดียม เป็นต้น
ในหนึ่งวันไม่ควรได้รับพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และ โซเดียม มากกว่าปริมาณสูงสุด ที่แนะนำดังนี้
ฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amounts; GDA)
คือฉลากแสดงสัญลักษณ์ทางโภชนาการเพิ่มเติมจากการแสดงฉลากโภชนาการ โดยแสดงในรูปแบบค่าพลังงานของ ไขมัน น้ำตาล และโซเดียม ส่วนมากจะแสดงคู่กับฉลากโภชนาการแบบย่อ
โดยอาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ ได้แก่ อาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 305 ( พ.ศ.2550) คือ
- มันฝรั่งทอด อบกรอบ
- ข้าวโพดคั่วทอด อบกรอบ
- ข้าวเกรียบ อาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง
- ขนมปังกรอบ แครกเกอร์ บิสกิต
- เวเฟอร์สอดไส้
สารอาหารบนฉลากที่ผู้เป็นเบาหวานต้องรู้
คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาล
ผู้เป็นเบาหวานควรพิจารณาคาร์โบไฮเดรตทั้งหมดต่อหนึ่งหน่วยบริโภคว่ามีปริมาณมากหรือน้อยกว่าคาร์โบไฮเดรตที่ควรได้ต่อมื้อและต่อวัน รวมทั้งปริมาณน้ำตาลที่เติมลงไปในผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีปริมาณกี่กรัม (น้ำตาล 1 ช้อนชาให้คาร์โบไฮเดรต 5 กรัม) ถ้ากินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตทั้งหมด 15—18 กรัม ต้องแลกเปลี่ยนอาหารชนิดนั้นกับข้าวแป้ง 1 ทัพพี
ใยอาหาร
ปริมาณใยอาหารในผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีปริมาณกี่กรัม โดยทั่วไปควรได้ใยอาหารวันละ 40 ถึง 45 กรัมต่อวัน ซึ่งจะได้จากผัก ผลไม้ รวมทั้งบางส่วนได้จากข้าวแป้งและธัญพืชที่ขัดสีน้อยด้วย ส่วนในเด็กควรได้ใยอาหารโดยคิดจากอายุ (ปี) บวกกับ 5 กรัมต่อวัน
ไขมัน
บอกเป็นปริมาณไขมันทั้งหมด (รวมทั้งไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง และไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว) ปริมาณที่ได้ไม่ควรเกินร้อยละ 30 และคอเลสเตอรอลไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน
โซเดียม
ปริมาณโซเดียมไม่ควรเกินปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน เพราะจะทำให้เกิดปัญหาของโรคไต โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง
ผู้เป็นเบาหวานควรระวังในการเลือกอาหาร โดยใช้หลัก “ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม”
สาระบทความดีๆจาก Fusion Fire Safety